

เราอยู่ในยุคที่ ไม่อยากเลี้ยงลูกสาวให้โตมาเป็นแบบเอเรียลใน Little Mermaid –ยอมทุกอย่าง แม้แต่แลกเสียงอันไพเราะกับตัวเองเพื่อผู้ชายที่ฝันถึงอีกต่อไปแล้ว
เราอยากเลี้ยงลูกสาวออกมาให้ได้แบบเอลซ่า –อยู่ด้วยตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งใคร มีจิตใจที่อ่อนโยน แต่เข้มแข็ง ทรงพลังและเปล่งประกาย
วันนี้เลยมาขอแบ่งปัน เคล็ดลับเล็กๆ ให้ลูกสาวที่รักได้ใช้ศักยภาพทั้งหมดที่เธอมี เป็นตัวของลูกได้อย่างสวยงามที่สุดในสไตล์เธอ
1) ‘ไม่มีแม่คนไหนสมบูรณ์แบบ’
เริ่มข้อแรก ขอบอกคุณแม่ด้วยความจริงสำคัญข้อนี้
ก่อนที่เราจะได้มาเป็นคุณแม่ แน่นอน เราก็จะมีภาพในหัวว่าอยากให้ตัวเองเป็นซูเปอร์มัม!
คุณแม่มือใหม่คนหนึ่งในอเมริกาเล่าให้ฟังถึงคืนหนึ่งที่ลูกของเธอนอนไม่หลับทั้งคืน เธอเองก็ตื่นทั้งคืน และรู้สึกตัวเองเหลวแหลกมากเพราะหาคำตอบไม่ได้ว่าลูกเป็นอะไร วันต่อมาเธอรู้สึกชาและโกรธเหลือเกิน ‘แต่ฉันไม่ได้โกรธลูกนะ ฉันโกรธที่ลูกทำให้ฉันรู้สึก ‘หมดหนทาง’ และนั่นเป็นจุดอ่อนของฉัน’
การมีลูก อาจทำให้เราปรี๊ดขึ้นมาได้ เพราะหลายเหตุการณ์เกินคาดเดาที่มาทำให้เรารู้สึกเป็นแม่ ‘ที่ไม่ดีพอ’ การคาดหวังว่าตัวเองต้องเพอร์เฟค และเครียดเมื่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมันไม่ได้เป็นดั่งใจ ลูกก็จะรับรู้ได้ถึงความกดดันของเราและอาจเกิดความสับสนในใจ
คุณแม่ต้องพุ่งเข้าหาความกลัวที่มี ยอมรับและทำความเข้าใจมัน ตั้งเป้าว่า ขอให้เราเป็นคุณแม่ที่ ‘ดีพอ’ ก็พอไม่ต้องถึงขั้นไม่มีที่ติ แล้วค่อยๆ เรียนรู้ลูกของเราอย่างใจเย็นไปทุกๆ วัน
อ่อนโยนกับตัวเองให้ได้ก่อน แล้วลูกถึงจะสัมผัสได้ถึงความอ่อนโยนจากเรา
2) ‘แม่รู้ ยังไงลูกก็ทำได้’
คำพูดนี้ จริงๆ มันก็เป็นดาบสองคมเหมือนกันนะ มันสร้างกำลังใจชั้นดีให้ลูก แต่จริงๆ แล้ว คุณแม่อาจสร้างความคาดหวังสูงปรี๊ดให้ลูกโดยไม่รู้ตัว (ไม่ได้ห้ามให้พูดเลยนะ เราซึ่งเป็นแม่ จะรู้ดีที่สุดว่าเมื่อไหร่เป็นเวลาที่เหมาะ)
‘มันทำให้เรารู้สึกว่า ถ้าวันนึง เราสอบไม่ได้เอ เขาจะผิดหวังในตัวเรามากแน่ๆ’ เพื่อนที่เรียนปริญญาโทกับเราเล่าให้ฟัง เธอรู้สึกกดดันทุกครั้งที่พ่อแม่ตั้งความหวังกับเธอ เพราะกลัวว่าถ้าวันหนึ่ง ทำไม่ได้อย่างที่หวังไว้ ทุกอย่างจะพังทลายลงมา หลายครั้งที่เธอท่องหนังสือจน’ลืม’ทานข้าว และเธอเคยเข้าโรงพยาบาล เพราะเครียดและเป็นโรคผิดปกติทางการกินหรือ Anorexia มาแล้ว (โรคนี้รากของมันมาจากปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมตัวเอง)
ทางที่ดี คุณแม่คอยเป็นเชียร์ลีดเดอร์แบบนี้แหละ ดีแล้ว แต่ลองพูดในแนวสนุกๆ ไม่กดดัน
ไม่ว่าจะเป็น ‘ทำดีที่สุดแล้ว ออกมาเป็นยังไง แม่ก็ภูมิใจกับลูกอยู่ดี’
‘เป็นกำลังใจให้ลูกนะจ๊ะ’ เป็นต้น
ให้ลูกรู้สึกว่า แม่รักลูกในแบบที่ลูกเป็นลูกนั่นแหละ
3) ความสุขของเรา หรือความสุขของลูกกันแน่นะ
เราเข้าใจว่า ด้วยความที่ตัวเองนั้นอาบน้ำร้อนมาก่อน และอยากส่งต่อประสบการณ์และทางเลือกที่เรามั่นใจว่าดีที่สุดแก่ลูก บางครั้งมันอาจเหลื่อมกลายเป็นเรา ‘ยัดเยียด’ ให้ลูก แทนที่จะเสนอแนะ การโรยทางด้วยกลีบกุหลาบไว้ให้ลูกน่ะ มันเลอค่าก็จริง แต่บางที ลูกเราอาจจะชอบทางลาดชันกว่ากลีบกุหลาบสวยๆ ก็ได้ คุยกับลูกว่าความสุขของลูกคืออะไร สิ่งไหนที่ลูกใช้เวลาอยู่กับมันมากที่สุด แล้วพยายามทำความเข้าใจลูก ในแบบที่ลูกเป็น
เพราะหากเราปูทางจัดสรรทุกอย่างไว้ให้ลูกอย่างเสร็จสรรพ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อลูกโต ลูกจะไม่สามารถตัดสินใจอะไรด้วยตัวเองได้เลย ขาดความมั่นใจ และข้างในรู้สึกว่างเปล่า
4) เป็น ‘พื้นที่ปลอดภัยให้ลูก’ แต่ต้องปล่อยให้ลูกออกไปท่องโลกเองบ้าง
หลายแม่จะเข้าใจว่า การที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยหรือ comfort zone ให้ลูก คือการเลี้ยงลูกแบบไข่ในหิน อุ้มชูฟูมฟัก เพื่อให้ลูกรู้สึกปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง!
แต่ความจริงแล้ว การเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ลูก นั้นหมายถึง ‘ลองทำในสิ่งที่อยากเลยจ่ะลูก’ (แต่ต้องเป็นสิ่งถูกกฎหมาย/ไม่เบียดเบียนใครนะ) แต่ถ้าสิ่งที่ลูกทำอยู่มันไม่เวิร์คหรือต้องการกำลังใจเมื่อไหร่ เขาจะมีแม่คนนี้คอยหนุนหลังอยู่ เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กลับมาหาได้เสมอ
5) ผจญภัยในสิ่งที่ลูกรักไปพร้อมกับเขา
วิธีง่ายๆ ที่เราจะรู้ได้ว่า ลูกมีแพชชั่นกับอะไรมากที่สุด คือ หนึ่ง เราสังเกตได้อย่างชัดเจน ว่าลูกสามารถใช้เวลาอยู่กับสิ่งนี้ได้นานกว่ากิจกรรมอื่นๆ และบางที อาจจะนานกว่าพัฒนาการของเด็กปกติในช่วงเวลานั้นด้วยซ้ำ และสองคือ เวลาลูกพูดถึง’กิจกรรม’นั้นให้ฟัง ดวงตาของลูก ‘เป็นประกาย’
นอกจากจะสนับสนุนเรื่องเงิน ไปรับไปส่ง หรือสั่งซื้ออุปกรณ์ต่างๆ แล้ว หาเวลา ท่องไปในโลกแห่งแพชชั่นร่วมกันกับเขา นี่เป็นอีกหนึ่งวิธี ที่จะทำให้เขารู้ว่า เราแคร์สิ่งที่เขารักมากแค่ไหน
6) ถาม แทนการห้าม
เข้าหาลูกด้วยความสงสัย มากกว่าการสั่งการ
ไม่ว่าสิ่งที่ลูกสนใจ จะเป็นสิ่งที่เราเห็นต่างมากขนาดไหน ใช้วิธีคุยกับลูก และพยายามเข้าใจเขา ไม่ใช่ล่อเขาให้กลับมาเชื่อในแบบที่เราฝังใจ เรากำลังสอนให้ลูกมีพัฒนาการสมองและเป็นคนฉลาดได้ด้วยตัวเอง ผิดถูกคุยกันด้วย ‘เหตุผล’ เหนืออารมณ์ แล้วเขาจะโตมาเป็นคนเปิดกว้าง และมองการณ์ไกล โดยไม่มีอะไรมาปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการของเขาได้เลย
7) สอนลูกเรื่องให้เกียรติ ‘มนุษย์ทุกคน’ เท่ากัน
เมื่อวันก่อน รุ่นพี่ผู้ชายที่เราสนิทเล่าให้ฟังว่า เขามีรอยสักช่วงแขนของเขา แล้วมีเด็กหญิงคนหนึ่งอายุประมาณ 12 นั่งข้างเขาแล้วอยู่ดีๆ ก็เขยิบหนีพร้อมพูดว่า ‘ไม่อยากนั่งใกล้ คนมีรอยสักเป็นคนสกปรก’ รุ่นพี่เราพูดประชดขึ้นมาเลยว่า ‘พ่อแม่สอนดีจังเลยนะครับ’ และยังเห็นอีกว่าทั้งพ่อทั้งแม่ที่นั่งอยู่ข้างกัน ทำเป็นไม่สนใจและเล่นโทรศัพท์…
หลายพฤติกรรมที่มันฝังรากลึกในตัวเด็ก หลายอย่างมาจากการสั่งสอนถ่ายทอดมาจากพ่อแม่ ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่ีมีพฤติกรรมเหยียดสีผิว ชนชาติ ฐานะ และอื่นๆ อีกมากมาย
เป็นตัวอย่างให้ดีกับลูกด้วยการเป็น ‘มนุษย์’ ที่ประเสริฐให้ลูกเห็น ไม่ได้หมายความว่าให้แข่งขันจนได้รางวัลโนเบิลเพื่อลูกนะ แต่สอนลูกด้วยการให้เกียรติทุกคนให้เขาเห็น ให้เขาเข้าใจว่า ถึงเราจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เห็นขนาดไหน สิ่งที่เราควรจะทำคือการ ‘เคารพ’ ความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน
8) ไม่ว่าอีกฝ่ายหนึ่งให้ลูกฟัง
ไม่ว่าเราจะโกรธเลือดขึ้นหน้ากับคุณสามีของเราขนาดไหน ไม่ควรเอาน้ำโหนี้ไปลงที่คุณลูก หม่อมป้อม-ขวัญทิพย์ เทวกุล เคยพูดว่า สาเหตุที่เธอไม่เคยบ่นอดีตสามีของเธอให้ลูกๆ ฟังเลย เพราะเธอเชื่อว่า วันหนึ่งหากตัวเธอเป็นอะไรไป ลูกก็ต้องไปอยู่กับสามี หากลูกเอาแต่รับรู้เรื่องแย่ๆ เกี่ยวกับสามี ลูกจะรู้สึกสบายใจได้อย่างไรหากวันนั้นมาถึง
และอีกประเด็นที่สำคัญคือ ทุกครั้งที่เราด่าคุณพ่อของลูกให้ลูกฟัง ลูกซึ่งยังเด็กก็จะรู้สึกว่า ‘ตัวลูกเองก็คือส่วนผสมของทั้งแม่และพ่อ ถ้าแม่คิดว่าพ่อแย่และเลวร้ายขนาดนี้ นั่นแปลว่า ส่วนหนึ่งในตัวลูกก็ต้องเลวร้ายเหมือนพ่อด้วยแน่ๆ ลูกคงไม่ใช่คนที่ดี…’
LIKE US : Facebook.com/Momscream

© Copyright 2020 www.momscream.com