Family

18 วิธีนี้ครูท้อปๆ บอกมาว่า ถ้าพ่อแม่ช่วยกัน ลูกจะเป็นเด็กที่พร้อมสำหรับอนาคตที่ดีได้เลย



อีกความในใจหนึ่งที่เวลาเราหาโรงเรียนให้ลูก เราจะขอเลือกโรงเรียนท้อปๆ แบบว่าแพงก็ยอมจ่าย ก็เพราะเรานั่นเองล่ะที่อยากจะฝากความหวังไว้ให้ครูไปเลยดีกว่า แต่ความจริงแล้วมีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอร์ท แคโรไลนา ในแคลิฟอร์เนียบอกมาว่า พ่อแม่นี่ล่ะคือส่วนสำคัญที่จะดันให้ลูกเราไปสู่หนทางที่ใช่สำหรับเขา มากกว่าฝากความหวังไว้ที่ครูเลยด้วยซ้ำ! ฟังแล้วแม่ทำงานมีหนาวเลย เพื่อให้งานวิจัยนี้ใช่ขึ้น เลยมีการสัมภาษณ์ครูท้อปๆ 40 คนว่าจริงไหม ครูยืนยันว่าใช่ และบอกมาด้วยว่าสิ่งที่พ่อแม่ควรช่วยกันทำไปกับครูก็คือ..

1. อ่านหนังสือกับลูก

“อ่านหนังสือให้ลูกฟัง อ่านหนังสือกับลูก และให้เขาอ่านให้เราฟังด้วย” – คุณครูเคที่ เวสท์ฟีลด์ ครูสอนประวัติศาสตร์เกรด10 ในบอสตันบอกไว้ และปรากฏว่าครูแทบจะทุกคนแนะนำเรื่องอ่านหนังสือนี้เหมือนกันหมด

 

2. กินข้าวเย็นกับลูก

“มื้อเย็นสำคัญมากที่แต่ละคนจะได้อัพเดทชีวิตกัน ทั้งพ่อแม่ และลูกได้ช่วยกันคิด มีอะไรก็มาปรึกษากันได้ตอนมื้อเย็นนี่ล่ะ ทั้งดีและไม่ดีจะเกิดขึ้นกับการนั่งโต๊ะอาหาร ฉันคิดว่าพ่อแม่จะได้สิ่งที่ดีที่สุดจากลูกก็ตอนมื้อเย็นแบบนี้ และถ้าได้พูดคุยแบบนี้เป็นประจำ จะเป็นหัวใจไปสู่ความสำเร็จของลูกได้เลย” — ครูเกรด 2 ในนิวยอร์ค

 

3. เป็นตัวอย่างที่ดีของลูก

คือเราอยากให้ลูกเป็นยังไง เราก็เป็นแบบนั้นล่ะ ถ้าเราอยากให้เขาชอบอ่านหนังสือ เราก็เป็นคนนั่งอ่านหนังสือให้เขาดู ถ้าเราอยากให้เขาชอบเขียน เราก็เริ่มเขียนอะไรให้เขา ถ้าเราอยากให้เขาชอบเลข ก็เลิกบ่นกับใครว่า เราไม่ชอบเรียนเลขตอนเด็กๆ เลย ความร่าเริ่มแจ่มใสของพ่อแม่ก็สำคัญ มันทำให้ลูกอารมณ์ดี และมีความมั่นใจเพิ่มว่าพ่อแม่จะไม่หงุดหงิดง่ายใส่เขา

“ทุกสิ่งไม่ได้อยู่แค่ในโรงเรียน และในหนังสือ” ชีวิตอยู่รอบตัวเขา ให้เขาเห็นโลก เห็นชีวิตคนอื่น เขาจะเริ่มตั้งคำถาม และเจอสิ่งที่ตัวเองชอบ หรืออยากทำ และได้เข้าใจตัวเองได้ง่ายขึ้น

 

5. มีแรงขับให้ลูกด้วย

ครูคนหนึ่งบอกว่า “ฉันรู้นะว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่ทำงานหนัก และฉันก็ไม่สามารถขอให้พวกเขามีเวลากับลูกเพิ่มได้ เพราะเขาทำไม่ได้จริงๆ พวกเขานั่งทำการบ้านกับลูกๆ ก็ยังไม่ได้ แต่ฉันอยากบอกว่า คุณอาจต้องเลือกว่า ถ้าจะไม่มีเวลาให้ลูกก็ได้ แต่ก็จะไม่มีอะไรเข้าไปเพิ่มในชีวิตเขาเหมือนกัน” ครูยังบอกต่ออีกว่า

“สิ่งที่พ่อแม่จะทำได้ดีที่สุดคือ คาดหวังความเจ๋งอะไรจากลูกด้วย เช่น ลูกต้องเรียนให้จบปริญญาตรีด้วย เป็นสิ่งที่ลูกต้องทำให้ได้ ไม่ใช่ว่าบอกลูกว่า เรียนอะไรก็ได้ ไม่จบก็ไม่เป็นไร เพราะถ้าเราคาดหวังด้วย อันนั้นล่ะจะกลายเป็นแรงขับของลูก เขาจะมีจุดมุ่งหมายในใจแล้ว ไม่อย่างนั้นเขาก็จะคิดว่า ไม่ทำไม่เป็นไร พ่อแม่ไม่ว่าอะไรนี่นา” – คุณครูเจนนิเฟอร์ สอนเกรด 5 ในนิวเจอร์ซีย์

 

6. ต้องให้ลูกเอาพวกหน้าจอต่างๆ ไปให้ห่าง

ครูบอกว่าสำคัญมากๆ เลยเพราะเด็กวัยรุ่นยุคนี้แบจะไม่มีใครอ่านหนังสือกันแล้ว ทุกคนอยู่แต่กับหน้าจอ มันทำให้เด็กไม่สามารถอยู่คนเดียวได้ ต้องมีอะไรก้มดูตลอด จะทำให้เด็กขาดความมั่นใจที่จะพึ่งตัวเอง และไม่กล้าปะทะความกลัวอะไร และไม่ค่อยได้พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ เพราะเหมือนสมองเขาต้องจดจ่อกับอะไรที่พร้อมจะจั๊มไปจั๊มมาตลอดเวลา

 

7. อย่าปล่อยให้เขาเป็นเด็กขี้เกียจ

“เด็กควรทำการบ้าน ทำงานบ้าน และแอ็คทีฟอยู่เสมอ” เป็นสิ่งที่ครูย้ำ และพวกเราเองก็อยากให้เป็นอย่างนั้น ถ้าอย่างนั้นคงต้องลุกขึ้นมากระตุกลูกกันแล้ว

 

8. เข้ามามีส่วนร่วมกับครูด้วย

พ่อแม่ที่ทำงานยุ่งมากๆ ก็จะพลาดข้อความต่างๆ ที่ครูส่งมาให้ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าลูกสอบตกวิชาอะไร ลูกไม่เคยทำการบ้านเลย หรือนิสัยลูกที่โรงเรียนเป็นยังไง อย่าแค่ถามลูกด้วยประโยคว่า “โรงเรียนเป็นไงบ้างลูก” เพราะเขาก็จะตอบว่าโอเค แต่ไปถามครูด้วยเลยดีกว่า ว่าลูกเราเป็นยังไงบ้าง?

 

9. ไม่ต้องต่อต้านครูก็ได้

เป็นอีกหนึ่งแอตติจูดที่พ่อแม่บางคนเป็น คือจะคิดว่า “เรารู้ดีกว่าครู” ก็ใช่ในบางเรื่อง แต่อย่าลืมว่าครูเขามีประสบการณ์ด้านการศึกษามาโดยตรง เขาก็จะเข้าใจอะไรบางเรื่องดีกว่าเราเหมือนกัน และถ้าเราคอยให้ท้ายลูก ต่อต้านครู ลูกจะได้ใจมากๆ สำคัญมากให้ลูกต้องรู้ว่า “แม่อยู่ทีมเดียวกับครูนะ” ไม่อย่างนั้นลูกสปอยล์แน่ๆ และจะกร่างที่โรงเรียนได้เลย

 

10. หาอะไรแตกต่างให้ลูกเสมอ

“ให้เด็กได้เจออะไรไม่เหมือนเดิม หรือลองทำอะไรแปลกใหม่ ที่สำคัญเอาเทคโนโลยีออกจากตัวเขาให้มากที่สุด และให้เขาเรียนรู้จักสิ่งต่างๆ รอบตัวไปตามธรรมชาติ” – คุณครูคริสติน่า คานาวาน สอนเกรด 4 ในแมสซาชูเซท

 

11. เชื่อในระบบการศึกษาด้วย

เพราะบางทีเราไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ เราไม่รู้จริงๆ ว่าวิธีที่ครูสอน จะเวิร์คกับลูกเราไหม แทนที่จะคอย “โอย นี่มันวิธีคิดเลขอะไรลูก แม่ว่าไม่เวิร์คหรอก” ลองทิ้งสเปซ รอเวลาสักนิด แล้วดูผลก่อนดีกว่า

 

12. อย่าพารานอยด์เกินไป

พ่อแม่เยอะมากๆ มีความกังวลสูงกับลูกตัวเอง จนกลายเป็นจี้ทั้งลูก จี้ทั้งครู แบบนี้จะทำให้เด็กเริ่มไม่เป็นตัวของตัวเอง ครูเองถ้าโดนมากๆ ก็อาจมีเกร็งๆ เวลาสอนลูกเราเหมือนกัน รีแลกซ์ ปล่อยวางบ้าง และปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปตามสิ่งที่มันเป็นบ้าง

 

13. สนุกกับลูกเยอะๆ

“ให้เวลาวิ่งเล่นกับเขาให้เขาหัวเราะ แค่วิ่งไล่จับเขาก็ขำมากแล้ว” ครูทุกคนยืนยัน

 

14. พาลูกไปส่งโรงเรียน และรับกลับตรงเวลา

“มาโรงเรียนสายบ้างนานๆ สักสองสามครั้ง ก็ยังโอเค แต่ถ้าไปสาย 5 วันในหนึ่งอาทิตย์ และยังมารับลูกสายอีก จะทำให้เด็กเองเริ่มขาดความมั่นใจเล็กๆ และเพื่อนๆ เขาก็มองเขาเป็นตาเดียวได้ จะทำให้เขาทำตัวไม่ถูกในหมู่ครู และเพื่อน” อันนี้จริงเลย อีกอย่างคือเด็กที่มาสาย เขาจะพลาดอะไรตอนเช้าที่สร้างความแจ่มใสให้สมองเขา มีเวลาวิ่งเล่นกับเพื่อนสักนิดก่อนเข้าเรียน ก็สำคัญอยู่เหมือนกัน

 

15. ให้เขาแพ้บ้าง

บางครั้งลูกไม่ต้องชนะ และไม่ต้องได้สิ่งที่ลูกอยากได้นี่ล่ะ เขาจะได้เรียนรู้จักความผิดหวัง และรู้จักให้กำลังใจตัวเองเป็น เพื่อจะลุกขึ้นมาได้ใหม่อีกครั้ง

 

16. ใส่ใจสุขภาพของลูก

อย่าตามใจถ้าเขาชอบกินแต่ไก่ทอด ไส้กรอก และไม่ยอมเล่นกีฬาเลย ต้องถือเป็นวินัยสำคัญที่เราต้องจัดการเขาให้ได้!

 

17. สังเกตด้วยว่าลูกเรียนอะไรมา

ทั้งเรื่องดี และไม่ดี อย่างอยู่ดีๆ ลูกเราที่ไม่เคยเขียนหนังสือ มานั่งเขียนหนังสือใหญ่เลย ก็อาจเป็นได้ว่าครูสอนอะไรที่โดนใจเขา จนเขาอยากเขียน หรืออยู่ดีๆ ลูกเราพูดภาษาอังกฤษเก่ง แล้วไม่พูดเลย ก็ต้องดูว่าเกิดอะไรที่โรงเรียนไหม อาจมีเรื่องทำลายความมั่นใจบางอย่างของเขา จนเขาไม่อยากพูดก็ได้

 

18. ให้สเปซลูกด้วย

“ฉันอยากให้เด็กเป็นคนเข้ามาถามฉันก่อน ถ้าเขาลืมทำการบ้านก็บอกฉันเอง ถ้าเขาทำอะไรผิด ก็มาบอกฉัน มากกว่าพ่อแม่เป็นคนมาบอก เขาจะได้เรียนรู้การแก้ปัญหาด้วยตัวเอง และปะทะความกลัวเป็น” – คุณครูสอนเกรด 5 ในแมสซาชูเซ็ท

 

ขอบคุณคุณครูทุกคนที่ช่วยแชร์อินไซด์ เอาล่ะ! พวกเราพ่อแม่ได้ข้อมูลมาจากครูแล้ว พร้อมลุยต่อกันเลย มัมสกรีมเป็นกำลังใจด้วยอีกคน

7 October, 2017
Family