เราเชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่งัดมุขโกหกให้ลูกไม่งอแงกันมาแล้วรู้สึกว่าได้ผลดีเชียว เลยเผลอตัวพูดหลอกลูกต่างๆ นานามากมาย มีอยู่ครั้งหนึ่งเคยหลอกลูกด้วยความหวังดี วันนั้นเป็นวันคริสต์มาสแล้วเราไปซื้อของขวัญจากห้าง ที่ห้างก็แสนดีห่อของขวัญที่มีโลโก้ห้างอยู่เต็มไปหมดทั้งกล่อง เราเอากลับมาพร้อมกับซ่อนให้เขาตื่นมาเห็นตอนเช้า แล้วเราก็บอกลูกว่า “เมื่อคืนลุงซานตาคลอสเอาของขวัญมาให้ลูกนะครับ” ลูกก็ดูดีใจ แต่ก็หันมาถามว่า “ลุงซานต้าเดินห้าง…ด้วยเหรอครับแม่” ฮ่าๆๆๆ เป็นที่ขำขันกันไป แต่ถ้าเกิดขึ้นบ่อยๆ ลูกจะเริ่มสงสัยในตัวเรามากขึ้น
โตขึ้นเดี๋ยวเขาก็รู้เองแหละ…คงไม่เป็นไรหรอกมั้ง? หึหึหึ
เรื่องนี้มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในสหรัฐอเมริกาทำการศึกษามาให้พ่อแม่ตกใจเล่นว่าเด็กอายุแค่ 4 ขวบสามารถจับพิรุธได้ว่าพ่อแม่กำลังปั่นหัวเขา แล้วเด็กๆ ก็ตัดสินเลยว่าผู้ใหญ่คนนี้เป็นคนอย่างนี้นี่เอง ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กบอกว่านี่เป็นความสามารถที่เด็กจะจับได้ว่าความจริงที่เขารับรู้กำลังถูกเฉให้คิดไปอีกแบบ ทำให้การเรียนรู้ในการศึกษาสิ่งต่างๆ ของเด็กผิดเพี้ยนไปได้
กวอน ฮโยวอน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเล่าว่า “ถ้าเด็กๆ เซนซิทีฟกับข้อมูลของคนที่เขาได้เจอ เช่น เขาแยกแยะได้ว่าคุณครูคนนี้พูดแล้วเข้าใจน้อยกว่าคุณครูอีกคน ความสามารถตรงนี้จะมีประโยชน์เกี่ยวกับการเรียนรู้ในอนาคตของเขามาก เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ให้ข้อมูลได้เท่ากัน เขาจะรู้ว่าใครที่ควรจะเข้าหาเพื่อถามความรู้เรื่องต่างๆ”
ในการทดลองที่ทีมของเธอให้เด็กๆ 4 ขวบดูวีดีโอหุ่นมือสอนเจ้าเอลโม่ถึงของเล่นที่สามารถเล่นได้ 4 ฟังก์ชั่น แต่ให้หุ่นมือสอนแค่ 1 ฟังก์ชั่น พอให้เด็กเล่นของเล่นนั้นจริงๆ เด็กทุกคนกลับเล่นไม่เป็นเลยซักคน สรุปได้ว่า 72% ของเด็กๆ ชอบคุณครูที่ให้ข้อมูลตรงๆ และให้ข้อมูลที่ครบ ถึงจะเป็นเด็กเล็กๆ ถ้าเขาได้เรียนรู้แล้วเขาจะรู้ได้ว่าผู้ใหญ่คนไหนไว้ใจได้ คนไหนให้สงสัยว่าพูดจริงหรือเปล่า
คุณครูแอชลีย์ เวนเดล หัวหน้าอาจารย์จาก Early Bird Preschool ในซาน มาทีโอเล่าว่าถ้าเธอทักทายเด็กๆ แบบพูดสั้นๆ ว่าเมื่อคืนครูดูทีวีมาจ๊ะ เด็กๆ ก็จะรีบถามทันทีว่าแล้วคุณครูทำอะไรต่อคะ/ครับ “ตลกดีค่ะที่ได้เห็นหัวใจดวงน้อยๆ เริ่มอยากรู้ในสิ่งที่เป็นเหตุและผล” ทั้งหมดที่เกิดขึ้น กวอนอธิบายว่า “เพราะการขี้เกียจอธิบายสิ่งที่มีประโยชน์กับเด็กหรือพูดมั่วๆ ให้จบเรื่องไป พ่อแม่และคนที่ให้ความรู้ต้องระวังในเรื่องของข้อมูลว่าควรให้แบบหมดเปลือกและให้ในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นปมในใจของเขาตลอดไป”
เอาจริงๆ เด็กๆ ก็ไม่ได้มีญาณวิเศษรู้หรอกว่าเราพูดจริงหรือโม้ แต่ถ้าเขาเห็นหลักฐานประติดประต่อได้ว่าพ่อแม่กำลังโกหกเขาอยู่ เขาก็ฝังใจเลยว่าผู้ใหญ่คนนี้เชื่อถือไม่ได้ ถ้าจำเป็นต้องปิดบังลูกจริงๆ ก็เก็บทุกอย่างให้แนบเนียนแล้วกันนะ